ไข้เลือดออก ในเด็ก
ไข้เลือดออกในเด็กไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่มียุงลายเป็นตัวแพร่เชื้อไม่มียารักษาเฉพาะ รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้ ให้น้ำเกลือในรายที่อ่อนเพลีย อาเจียน ทานอาหารไม่ได้ และในรายที่เป็นรุนแรงจะมีเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีเลือดออกและอาจต้องให้เลือดทดแทน
อาการของไข้เลือดออก
มีไข้สูงลอย 2-7 วัน ปวดศีรษะปวดเมื่อยตามตัวเบื่ออาหารคลื่นไส้อาเจียน บางคนอาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามตัว การรับประทานยาลดไข้มีจุดประสงค์ให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวขึ้น ลดอาการปวดศีรษะและป้องกันการชักจากไข้สูงในเด็ก ฉะนั้นไข้จึงแค่ลดต่ำลงและจะหายตามระยะเวลาของโรค
การดูแลเบื้องต้น
- เช็ดตัวลดไข้ในผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี เพื่อป้องกันการชักจากไข้สูง
- การรับประทานยาลดไข้ ควรเป็นยาในกลุ่มพาราเซตามอล เช่น เทมปร้า คาลปอล ไทลีนอล ไม่ควรรับประทานยาในกลุ่ม แอสไพริน หรือบรูเฟนหรือยาลดไข้สูงอื่นๆ
- ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่ายรสไม่จัด และควรงดอาหารหรือน้ำที่มีสีแดง ดำ น้ำตาล เพราะในผู้ป่วยไข้เลือดออกต้องคอยสังเกตว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารหรือเปล่า โดยสังเกตจากอาเจียนหรือถ่าย ถ้ารับประทานอาหารที่มีสีคล้ายเลือดจะทำให้สังเกตได้ยากว่าเห็นเลือดหรืออาหารที่ทานเข้าไป
- หากผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ได้ให้ดื่มนม น้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้
อาการที่ควรรีบมาพบแพทย์ - เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนมาก กินไม่ได้ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง ง่วงซึม กระสับกระส่าย
- มีอาการแสดงสภาวะช็อค เช่น ชีพจรเบาเร็ว มือเท้าเย็นกระสับกระส่าย
- มีเลือดออกจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
- ปวดท้องอย่างรุนแรง อาการทั่วไปแย่ลง
ระยะไข้ลด หมายถึง อุณหภูมิในตัวผู้ป่วยลดลงกว่าเดิม ซึ่งเป็นระยะอันตรายของโรค ผู้ป่วยอาจช็อค หรือมีเลือดออกได้ เป็นระยะที่ต้องดูแลใกล้ชิด อาจต้องวัดความดันโลหิตทุก 1-2 ชั่วโมง หรือต้องสังเกตว่ามีเลือดออกหรือเปล่า
ระยะช็อค ในระยะไข้ลดเกิดจาก เกิดจากไข้เลือดออก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดเลือดมีผลให้น้ำที่อยู่ในเส้นเลือดรั่วออกจากเส้นเลือด เลือดในเส้นเลือดจึงมีความเข้มข้นสูง การไหลเวียนของเลือดไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ดี จึงเกิดภาวะช็อคได้
การเจาะเลือด เพื่อตรวจดูระดับของเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือด เพื่อจะใช้เป็นตัวพิจารณาเพิ่มหรือลดอัตราเร็วของน้ำเกลือ ชนิดของน้ำเกลือหรือเลือดที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกไม่จำเป็นทุกรายที่จะเลือดออกมาก ผู้ป่วยที่เป็นไม่รุนแรงจะมีเลือดออกไม่มาก เช่น เลือดออกที่ผิวหนังเป็นจุดแดง หรือมีเลือดกำเดาไหล ส่วนผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงหรือมีระยะถึงช็อคอยู่นานๆ อาจมีเลือดออกมากจนต้องได้รับเลือดทดแทน
อาการปวดท้อง สาเหตุเพราะในระยะแรกๆ ที่มีไข้สูงผู้ป่วยอาจทานได้น้อย มีคลื่นไส้ อาเจียน ทำให้น้ำย่อยทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร จึงมีอาการเหมือนโรคกระเพาะ
อาการแน่นท้อง ท้องอืดโต สาเหตุเพราะผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีตับและม้ามโต ทำให้มีอาการท้องอืดโตได้และผู้ป่วยไข้เลือดออกมีการรั่วของน้ำจากหลอดเลือดเข้าไปอยู่ในช่องท้องและช่องปอดทำให้ท้องอืด แน่นท้อง แน่นหน้าอกได้ เมื่อโรคหายอาการต่างๆ จะหายไปเอง
การป้องกัน
-กำจัดยุงลาย แหล่งน้ำที่เป็นที่เพาะพันธุ์ยุง
- ป้องกันไม่ให้ยุงกัด
- ถ้ามีไข้ 2-3 วัน แล้วไข้ไม่ลด ควรไปพบแพทย์
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เฝ้าระวังอาการผิดปกติที่ต้องนำผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์ทันที
คัดลอกมาจาก OK Nationblog
ปราถนาดีจาก
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
กรุณาใช้ภาษาที่สุภาพ